การลดต้นทุนการผลิตข้าว โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี การใช้สารไล่แมลง ปุ๋ยน้ำชีวภาพและน้ำส้มควันไม้

ของ นายจันทร์  สุขแท้  หมู่ที่ 9 ตำบลป่าแฝก

กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตำบลป่าแฝก มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ของชุมชน โดยเกษตรกรเรียนรู้ร่วมกัน การจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้มีเกษตรกรร่วมแลกเปลี่ยน  จำนวน 4 ราย   คือ ผู้ใหญ่ชมัยภรณ์    ชื่นจิตร , นางประมวล  สุรยศ ,  นายจันทร์ สุขแท้ , นางบุญเมือง  อยู่จันทร์  ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ถอดประสบการณ์ร่วมกับนางสาวคมคาย  ผู้แส , นางพิกุล สุวนานนท์ , นายสำราญ   อินเชื้อ , นายชูเดช  ดีแล้ว  และนายชัยเลิศ   บำรุงดี รายละเอียดดำเนินมีดังต่อไปนี้

1. การนำเข้าสู่บทเรียน
นางสาวคมคาย ผู้แส นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 6 ว  นำเข้าสู่บทเรียนโดยกล่าวสรุปว่าการลดต้นทุนการผลิตข้าว โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี การใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ , สารไล่แมลง และน้ำส้มควันไม้ ทดแทนการใช้เคมี โดยให้ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเข้าใจถึงกระบวนการในการถอดประสบการณ์ โดยให้นางพิกุล  สุวนานนท์ และนายชัยเลิศ  บำรุงดี  ทำหน้าที่ซักถามถอดประสบการณ์ทำนาหว่านน้ำตม ทั้งหมด 20 ไร่ ข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 3 ซึ่งในตอนทำเทือกนาใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพที่หมักไว้หยดลงในแปลงนา  เพื่อทำให้ฟางข้าวย่อยสลายตัวได้เร็วขึ้น  และหว่านข้าวในแปลง  เมื่อข้าวอายุได้   7 วัน ก็ฉีดยาคุมหญ้าและใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี 3 ครั้ง ดังนี้

ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 เมื่อข้าวอายุได้ 20 วัน โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ด จำนวน 20 กก. ผสมปุ๋ยสูตร 46-0-10  จำนวน 10 กก./ไร่

ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 เมื่อข้าวอายุได้ 45 วัน โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ด จำนวน 20 กก. ผสมปุ๋ยสูตร 46-0-0  จำนวน 10 กก./ไร่

ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3  เมื่อข้าวอายุได้ 65 วัน โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ด จำนวน 20 กก. ผสมปุ๋ยสูตร 46-0-0  จำนวน 10 กก./ไร่

ในการใช้สารไล่แมลงผสมกับน้ำส้มควันไม้ ฉีดพ่นในแปลงนาจำนวน 2 ครั้ง ช่วงเมื่อข้าวอายุได้ 20 วัน และอายุ 65 วัน ผลผลิตที่ได้จากการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ผสมปุ๋ยเคมี  ได้ผลผลิตไว้ 1,100 กก./ไร่

ความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่
 
เกษตรกรสามารถที่จะลดต้นทุนการผลิตข้าวได้  โดยการลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี โดยการหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ดและสารไล่แมลง, ปุ๋ยน้ำชีวภาพ และน้ำส้มควันไม้     ซึ่งผลิตได้เองในหมู่บ้านและมีราคาถูก เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ดินมีคุณภาพดี ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรในภายภาคหน้า

(นางสาวคมคาย   ผู้แส - นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 6ว 19  สิงหาคม  2551)

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สำนักงานเกษตรอำเภอกงไกรลาศ
เบอร์โทรศัพท์: 055-691-247 เบอร์แฟกซ์: ---
หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านกร่าง กงไกรลาศ สุโขทัย ประเทศไทย
Powered by Kaset Bay