การปลูกอ้อยข้ามแล้ง

ของ นายณรงค์  จิตรพินิจ หมู่ที่ 2 ตำบลท่าฉนวนอำเภอกงไกรลาศ  จังหวัดสุโขทัย

กิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ ของเกษตรกรผู้ประกอบกิจกรรมกลุ่มปลูกอ้อยของตำบลท่าฉนวนโดยมีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ได้แก่  นายณรงค์  จิตพินิจ  ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย โดยมอบหมายให้นายชัยเลิศ บำรุงดี  เป็นผู้ดำเนินการถ่ายความรู้

การปลูกอ้อยข้ามแล้งเป็นการเพิ่มผลผลิตอ้อยโดยไม่ต้องอาศัยน้ำชลประทานแต่อาศัยในดินช่วยให้อ้อยเจริญเติบโตจนถึงต้นฤดูฝน และทำการเก็บเกี่ยวเมื่อถึงช่วงเปิดหีบของโรงงาน ระหว่างเดือนธันวาคม – มีนาคม ซึ่งอ้อยจะโตเต็มที่และให้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง

ขั้นตอนการปลูกอ้อย
การเตรียมดิน การเปิดหน้าดินรับน้ำฝนในเดือนกรกฎาคม เพื่อรองรับน้ำฝนที่จะตกในเดือนสิงหาคมและกันยายน จะเก็บน้ำฝนได้มาก ดินจะมีความชื้นพอหล่อเลี้ยงต้นอ้อย เป็นการกำจัดวัชพืชและแมลงใต้ดินได้

การเตรียมดินพร้อมปลูก ชาวไร่อ้อยที่ปลูกอ้อยข้ามแล้งจะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นกับการเตรียมดินต้องไม่ให้สูญเสียความชื้นไปมาก เตรียมดินโดยการไถด้วยผาน 3หรือผาน 4 และต้องมีการพรวนดินด้วยผาน 7 หรือผาน 20 จาน

การเตรียมท่อนพันธุ์
อายุของพันธุ์อ้อยที่เหมาะสม อยู่ระหว่าง 8-10 เดือน ท่อนพันธุ์จะเริ่มงอกรากออกมาก่อนและงอกตาตามทีหลังระบบรากที่แข็งแรง จะผ่านฤดูแล้งได้ดี และมีหนอนกอเข้าทำลายน้อย เมื่อตัดท่อนพันธุ์แล้ว ต้องปลูกให้เสร็จภายใน 3-5 วัน ถ้าทิ้งไว้จะทำให้จุดเจริญของรากและตาเสียไป วิธีการปลูก แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ
1.  ปลูกด้วยเครื่องปลูก จะทำให้ความชื้นในดินสูญเสียน้อยและลดค่าแรงในการปลูก ชาวไร่ต้องมีความรู้เรื่องการใช้เครื่องจักรพอสมควร
2.  ปลูกด้วยแรงงานคนและใช้รถไถเดินตามกลบท่อนพันธุ์ชาวไร่อ้อยต้องเตรียมความพร้อม โดยการยกร่องปลูก วางท่อนพันธุ์ โรยปุ๋ยและกลบท่อนพันธุ์ ทำแต่ละขั้นตอนด้วยความรวดเร็ว ถ้าหากช้าจะทำให้ความชื้นรอบท่อนพันธุ์ไม่สม่ำเสมอ ทำให้ปุ่มรากจากท่อนพันธุ์งอกเฉพาะบริเวณที่ดินมีความชื้นเท่านั้น การปลูกอ้อยข้ามแล้งต้องให้ท่อนพันธุ์อยู่ในดินที่มีความชื้นรอบท่อนพันธุ์ และจะทำให้รากชั่วคราวจากพันธุ์งอกได้รวดเร็วสร้างรากถาวรจากหน่อได้ดี

การดูแลและบำรุงรักษา
การดูแลแปลงอ้อยหลังปลูก (ช่วงผ่านแล้ง) การพรวนดินจะช่วยให้ความชื้นในดินไม่สูญเสียไปช่วยลดอุณหภูมิที่ผิวดิน ทำให้อ้อยแล้งแตกกอมากขึ้นทำลายไข่แมลงศัตรูอ้อยตามผิวดิน ควรพรวนดิน เพื่อเพิ่มระดับความชื้นในดินการดูแลแปลงอ้อยช่วงหลังฝน อ้อยข้ามแล้งส่วนใหญ่จะเริ่มคลุมร่องอ้อย การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ชาวไร่ควรพิจารณาการใช้สารเคมีให้เหมาะสมกับวัชพืช โดยปฏิบัติควบคู่ไปกับการใส่ปุ๋ย

ประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ
1.  ได้ผลผลิตต่อไรสูงขึ้นกว่าการปลูกอ้อยในฤดูฝน
2.  อ้อยที่นำเข้าหีบมีคุณภาพความหวานสูง
3.  เพิ่มผลผลิตในกลุ่มอ้อยพันธุ์เบาให้สูงขึ้น
4.  ลดต้นทุนการผลิตอ้อย เช่น การกำจัดวัชพืชน้อยลง
5.  ทำให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนสูง

(นายชัยเลิศ  บำรุงดี - นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ  10  มกราคม  2554)

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สำนักงานเกษตรอำเภอกงไกรลาศ
เบอร์โทรศัพท์: 055-691-247 เบอร์แฟกซ์: ---
หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านกร่าง กงไกรลาศ สุโขทัย ประเทศไทย
Powered by Kaset Bay